วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (The Louvre Museum)

พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (The Louvre Museum)

 ความน่าตื่นเต้นของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ แต่ในปัจจุบันเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีงานศิลปะจัดแสดงอยู่กว่า 300,000 ชิ้น ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงช่วงปี 1850ใต้ทางเข้าทรงพีระมิดสมัยใหม่ ป้ายชี้บอกทางไปปีกทั้งสามของอาคาร แต่วันนี้เราจะเยี่ยมชมที่ปีกเดนอน (Denon Wing) กันครับของสะสมของที่นี่มีมากมายล้นหลาม ไม่ต้องพยายามดูทั้งหมดในคราวเดียวนะครับ เก็บไว้เป็นข้ออ้างให้คุณกลับมาเยี่ยมเยียนที่นี่อีกครั้งก็ได้

The Grand Gallery เป็นโถงทางเดินยาว ¼ ไมล์ยังสามารถจัดแสดงของสะสมของลูฟร์ได้เพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น เราสามารถพบงานจิตรกรรมซึ่งเป็นตัวแทนของงานสามสไตล์ได้ที่นี่ กล่าวคือ ยุคเรเนซองซ์ นีโอ-คลาสสิก และโรแมนติก

พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 เป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสในช่วงยุคเรเนสซองซ์ และเป็นผู้ริเริ่มการจัดเก็บและแสดงงานศิลปะที่พระราชสำนักสะสมไว้ ภาพวาดสะสมส่วนพระองค์เป็นส่วนสำคัญของงานที่จัดแสดงในลูฟร์ในสมัยนั้น กษัตริย์ในสมัยนั้นนิยมมีศิลปินชั้นครูยุคเรเนสซองส์ประจำอยู่ในราชสำนัก และหนึ่งในกษัตริย์ผู้มีอิทธิพลที่สุดในยุโรป พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 ก็ได้สุดยอดอัจฉริยะของยุโรปมาอยู่ด้วย เขาคนนั้นคือ ลีโอนาร์โด ดาวินชีครับ

ภาพวาด “Virgin Child and St. Anne” ของลีโอนาร์โดเป็นศิลปะแบบเรเนสซองส์แท้ๆ
ปรากฏภาพของคนสามรุ่น คือ ยาย แม่ และเด็ก โดยทั้งสามคนอยู่เรียงกันเป็นรูปพีระมิด มั่นคงและสมดุล ภาพวาดของลีโอนาร์โดจะแสดงให้เห็นถึงความใกล้ไกลโดยภาพจะเลือนลางเป็นม่านหมอกไปเรื่อยๆ

ส่วนภาพเหมือนของภรรยาเศรษฐีชาวเมืองฟลอเรนส์ หรือภาพ โมนาลิซา นี้ เป็นงานชิ้นเอกของลีโอนาร์โด เขาใช้เทคนิคแบบยุคเรเนสซองส์ตามตำรา ร่างกายของเธอดูมั่นคงราวกับรูปปั้นอยู่ในรูปทรงพีระมิดสมดุล โดยด้านหนึ่งเอนไปข้างหลังเล็กน้อยเพื่อเผยให้เห็นมวลทั้งหมด แขนของเธอขนานอยู่กับกรอบรูป ให้ความรู้สึกมั่นคงมากขึ้นและดูสมจริง และอีกครั้งที่ลีโอนาร์โดสร้างความลึกของภาพโดยวาดภาพสวนให้ดูมัวไม่คมชัด

สำหรับผม ภาพวาดนี้อธิบายความเป็นยุคเรเนสซองส์ครับ ทั้งความสมดุล ความมั่นใจ และมนุษย์นิยม ยุคที่คนธรรมดาคนหนึ่งก็เป็นงานศิลปะได้

พิพิธภัณฑ์นี้เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยเปิดให้สาธารณะชนเข้าชมครั้งแรกในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1793
ก็มีเหตุผลอยู่ครับ ประชาชนประหารกษัตริย์เพื่อยึดอำนาจ ได้รับพระราชวังและงานศิลปะที่กษัตริย์สะสมไว้มากมาย พวกเขาจึงเปิดประตูพระราชวังให้คนเข้าชม และ นี่ไง! พิพิธภัณฑ์ของประชาชน

เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์นี้ นโปเลียนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ ภาพวาดบนผืนผ้าใบใหญ่ที่สุดในลูฟร์แสดงภาพการสถาปนากษัตริย์ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุโรป การสถาปนา นโปเลียนครับ พระสันตะปาปาทรงเดินทางมาจากกรุงโรมเพื่อทำพิธีให้นโปเลียน แต่คนบ้าอำนาจที่ชื่อฉาวโฉ่ที่สุดในยุโรปกลับดำเนินพิธีการสถาปนาด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด พระสันตะปาปาจึงออกจะดูเหมือนถูกทอดทิ้ง

การปฏิวัติเกิดขึ้นเพื่อล้มระบอบกษัตริย์ นโปเลียนจึงตั้งตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ สไตล์งานศิลปะของยุงนั้นคือ นีโอ-คลาสสิก (Neo-Classic) นโปเลียนเองคงจะปลื้มรูปภาพทุกรูปในห้องนี้ กรีก โรมัน ภาพวีรบุรุษผู้รักชาติ ดูสะอาดตา เรียบง่าย และคลาสสิก เป็นรูปแบบของ นีโอ-คลาสสิกแท้ๆ หญิงชาวปารีสสวมใส่เครื่องนุ่งห่มแบบโบราณและทำทรงผมแบบโรมันกำลังนอนเอนอยู่บนโซฟาแบบโรมันแบบนี้เป็นภาพวาดสไตล์ นีโอ-คลาสสิก

ยุคนีโอ-คลาสสิกเป็นการเคลื่อนไหวของเหล่าปัญญาชนครับ ในช่วงที่เกิดการปฏิวัติทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกวัดกันด้วยหลักของเหตุผล ไม่มีอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามันไม่มีเหตุผล มันจะถูกปฏิเสธ แล้วอะไรที่มาแทนยุคนีโอ-คลาสสิคน่ะเหรอครับ ยุคโรแมนติกไงครับ

ยุคโรแมนติกคือการให้อารมณ์ความรู้สึกอยู่เหนือสติปัญญา ความเสน่หาเหนือความยับยั้งชั่งใจ ตรรกะและเหตุผลถูกแทนที่ด้วยจิตวิญญาณที่กระตุ้นให้ศิลปินเต็มไปด้วยความรู้สึก และสร้างสรรค์งานที่ไม่ใช่ที่สามารถเห็นด้วยตาเท่านั้น แต่ยังรู้สึกได้ด้วยใจด้วย

จะมีฉากใดเหมาะจะสร้างงานที่เต็มไปด้วยอารมณ์ได้เท่าภาพเรือแตกอีก ในภาพวาด “Raft of the Medusa” ของ Theodore Gericault เราจะเห็นภาพพีระมิดมนุษย์ ที่มีความตายและความสิ้นหวังอยู่ส่วนฐานไปจนถึงจุดสูงสุดแห่งความหวัง เมื่อหนึ่งในผู้รอดชีวิตมองเห็นเรืออีกลำที่จะมาช่วยชีวิตพวกเขาไว้ ถ้าศิลปะทำให้หัวใจคุณเต้น ภาพวาดนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงเลยล่ะครับ

ยุคโรแมนติกเชิดชูการเคลื่นไหวลัทธิชาตินิยมของฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 19 ภาพวาด “Liberty Leading the People” ของ เดลาคัวร์ (Delacroix) แสดงให้เห็นภาพประชาชนที่ในที่สุดก็ยึดอำนาจกลับคืนมาได้อีกครั้ง และโบกธงฝรั่งเศสขึ้นเหนือซากปรักหักพังของบ้านเมืองในถนนของกรุงปารีส



ที่มา : http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_youtube.php?youtube_id=468